Top

ศาสนา และศิลปกรรม

อาณาจักรแห่งศิลปกรรม...อาณาจักรสุโขทัย
ศิลปกรรมมักถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณ โดยเฉพาะการแสดงออกซึ่งพลังศรัทธา ดังนั้นศาสนา กับศิลปกรรมจึงส่งเสริมซึ่งกันและกันจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้เลย ผู้คนในสมัยสุโขทัย มีระบบความเชื่อที่อิงกับศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และยังรักษาเอกลักษณ์ความเชื่อเรื่อง "ผี" ซึ่งหมายถึงจิตวิญญาณบริสุทธิ์ เช่น ผีบรรพบุรุษ เป็นความเชื่อดั้งเดิมของผู้คนแถบนี้ ลัทธิทั้งสามหลอมรวมกันจนกลายเป็นวิถีของสุโขทัยอย่างแท้จริง

งานศิลปกรรมทุกแขนงที่สร้างสรรค์ขึ้นในยุคนี้ จึงมีเจตจำนงสำคัญที่จะแสดงออกถึงความเชื่อถือศรัทธาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม จิตรกรรม ตลอดจนงานประณีตศิลป์ คงมีส่วนน้อยเท่านั้นที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยเหตุผลอื่น เช่น การเมือง และเศรษฐกิจ อาทิ เครื่องถ้วยสังคโลกที่ผลิตขึ้นเพื่อการค้า เป็นต้น


ความช่างสังเกต และความสามารถในการปรับตัวของผู้คน ก่อให้เกิดรูปแบบของงานศิลปกรรมที่บ่มเพาะจนกลายเป็นเอกลักษณ์ สะท้อนตัวตนของ "อาณาจักรสุโขทัย" ได้อย่างเห็นภาพชัด จากจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์จะพบว่าอาณาจักรสุโขทัยปฏิสัมพันธ์กับดินแดนอื่นๆอยู่เสมอ ตั้งแต่ก่อนการก่อร่างสร้างเมือง จนกระทั่งถึงยุคเสื่อม ช่างสุโขทัยนำลักษณะของงานช่างต่างถิ่น เช่น เขมร ล้านนา พุกาม อู่ทอง และลังกา มาผสมผสาน และปรับปรุงให้เข้ากับรสนิยมของตน จนกลายเป็น "ศิลปะสุโขทัย" ซึ่งเป็นที่เลื่องลือในความงามอันโดดเด่น จากนั้นจึงส่งผ่านงานศิลปกรรมเหล่านี้ต่อไปให้กับแว่นแคว้นต่างๆ ทั้งร่วมสมัยกัน และแว่นแคว้นที่เจริญเติบโตในสมัยหลัง

ศิลปกรรมสุโขทัย มีลักษณะเฉพาะตัว อ่อนช้อย พลิ้วไหว ทว่าสงบ เยือกเย็น สะท้อนมุมมองการใช้ชีวิตของผู้คนในช่วงเวลาแห่งความสุข ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ได้รับการบริหารจัดการจนสามารถเอื้อประโยชน์อย่างยิ่งแก่การดำรงชีวิต ขณะเดียวกันอิทธิพลสกุลช่างอื่นๆที่ผสมผสานอย่างลงตัวอยู่ในงานช่างสุโขทัย ย่อมแสดงให้เห็นการเปิดกว้างทางความคิด และความชาญฉลาดในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ด้วย

ดังนั้น งานศิลปกรรมจึงช่วยให้เราเข้าใจบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในสมัยนั้นๆได้ชัดเจนขึ้น เช่น การค้นพบเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือทรงดอกบัวตูม รวมถึงพระพุทธรูปลีลาในเมืองต่างๆ ย่อมแสดงให้เห็นเครือข่ายอำนาจของสุโขทัย ในขณะที่การพบร่องรอยของศิลปกรรมสุโขทัยในงานศิลปกรรมสกุลช่างๆอื่นๆ ย่อมแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างแว่นแคว้นทั้งสองได้ด้วย

มรดกทางวัฒนธรรมของสุโขทัยที่ถ่ายทอดมาจนถึงปัจจุบัน ย่อมแสดงตัวตนของคนสุโขทัย และคนไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบันได้อย่างเห็นภาพชัด เป็น "มรดกพระร่วง" ที่ทรงคุณค่าควรแก่การภูมิใจ

ย้อนกลับ