Top

วัดสรศักดิ์

โขลงช้างพลายแห่งเมืองสุโขทัย
(อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย, เมืองเก่าสุโขทัย)
หากจะใช้คำว่า "จิ๋วแต่แจ๋ว" อธิบายคุณค่าของวัดนี้ก็คงไม่ผิดนัก เพราะวัดสรศักดิ์มีขนาดเล็กมากจนนักท่องเที่ยวมักมองข้ามไป แต่หากลองแวะมาชม และศึกษาประวัติศาสตร์แล้วจึงจะพบว่าเป็นวัดที่ไม่ธรรมดาเลย

เจดีย์ประธานของวัดเป็นทรงระฆังซึ่งมีประติมากรรมช้าง 24 เชือกประดับอยู่โดยรอบ ทุกเชือกมีเพียงครึ่งตัวด้านหน้า สันนิษฐานว่าช่างพยายามสื่อความหมายว่าช้างกำลังแบกเทินพระเจดีย์เอาไว้บนหลัง เป็นสัญลักษณ์ของการเชิดชูพระพุทธศาสนา และอาจเกี่ยวข้องกับคติแบบอินเดียและศรีลังกาโบราณ ที่เชื่อว่าโลกตั้งอยู่บนหลังช้าง ในขณะที่นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะมองว่าเจดีย์ที่มีช้างครึ่งตัวล้อมรอบอยู่นี้ พบอยู่ที่สถูปรุวันเวลิ ในศรีลังกา เรียกว่า "หัตถีปราการ" ซึ่งกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงสร้างไว้เป็นอนุสรณ์แห่งช้างที่เป็นพาหนะในการรบอันเกรียงไกรของพระองค์ ดังนั้น เจดีย์ช้างล้อมจึงอาจแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ทางศิลปกรรมและความเชื่อระหว่างสุโขทัยกับศรีลังกาได้ด้วย

ใกล้ๆ กับวัดสรศักดิ์มีตระพังขนาดใหญ่ ชื่อตระพังสอ ที่มุมของตระพังด้านที่ใกล้กับวัดที่สุดเป็นจุดที่มีการค้นพบศิลาจารึก มีเนื้อหาโดยสรุปเล่าเรื่องของนายอินทสรศักดิ์ ซึ่งขอพระราชทานที่ดินขนาด 44x39 วา ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของตน จากออกญาธรรมราชาผู้ครองเมืองสุโขทัย เพื่อสร้างวัดเมื่อ พุทธศักราช 1960 เป็นที่จำพรรษาของพระมหาเถรธรรมไตรโลก หลังจากนั้นมีเจ้านายหลายพระองค์มาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดนี้ โดยประทับที่พระตำหนักหัวสนามเก่าด้านทิศตะวันตกของวัด สะท้อนให้เห็นประเพณีหลายอย่างในเวลานั้น เช่น ความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมดในอาณาจักร การสร้างวัดต้องขอพระราชทานที่ดิน แม้จะเป็นที่ดินที่เจ้าของได้สร้างบ้านเรือนอยู่ก็ตาม เชื่อว่าวัดที่สร้างในคราวนั้นก็คือวัดแห่งนี้ จึงเรียกชื่อวัดว่า "วัดสรศักดิ์"




ข้อมูลติดต่อ
ชื่อผู้ติดต่อ :
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ที่อยู่ :
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย 64210
เบอร์โทรศัพท์ :
พิกัด :
17.023015, 99.704703
Facebook :

ข้อมูลทั่วไป
วันทำการ :
ทุกวัน
เวลาทำการ :
แนะนำให้เยี่ยมชมก่อนเวลา 16.00 น. (ไม่ค่อยมีการสัญจรไปมา หลังเวลานี้)
สถานที่ตั้ง :
อยู่ติดกับกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ ห่างจากศูนย์กลางประมาณ 2.8 กิโลเมตร
การเดินทาง :
  • รถจักรยาน รถจักรยานยนต์ รถยนต์ส่วนตัว รถไฟฟ้าเช่าขับเอง

  • ชมทัศนียภาพ
    พักผ่อน
    เรียนรู้ประวัติศาสตร์
    หาประสบการณ์
    เติมเต็มจิตวิญญาณ
    โบราณสถาน
    เดินเท้า
    ปั่นจักรยาน
    สามล้อเครื่อง
    รถราง
    Information Center
    ที่จอดรถ
    จุดถ่ายภาพ
    ตำนานพระร่วง
    ป้ายแผนที่
    กษัตริย์เสด็จ
    กิจกรรมแบบเดี่ยว
    กิจกรรมแบบกลุ่ม
    เพื่อความรู้์
    กิจกรรมกลางแจ้ง

    จุดสังเกต
    วัดสรศักดิ์ตั้งอยู่นอกอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยทางทิศเหนือ ใกล้กับศาลตาผาแดง

    ที่ตั้ง
    ตั้งอยู่นอกอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ทางทิศเหนือของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยใกล้กับศาลตาผาแดงและวัดซ่อนข้าว

    แผนที่

    สิ่งที่ต้องห้ามพลาด
  • เจดีย์ทรงระฆังหรือทรงลังกา ที่มีช้างรอบฐาน
  • เจดีย์ประธานทรงระฆังมีช้างล้อม แต่เดิมเจดีย์นี้มีส่วนยอดพังทลายลงและช้างไม่สมบูรณ์อยู่หลายเชือก กรมศิลปากรบูรณะให้งดงามในสมัยหลัง ด้านหน้ามีวิหารหลวงอยู่ด้วย
  • "พระตำหนักหัวสนามเก่า" ด้านทิศตะวันตกของวัด เป็นศาลตาผาแดงและที่ว่างซึ่งมีดงไม้อยู่ สันนิษฐานว่าคือบริเวณ "พระตำหนักหัวสนามเก่า" ที่ประทับของเจ้านายในสมัยโบราณ ยังปรากฏฐานอาคาร คูน้ำ และบ่อน้ำบาดาลอยู่ด้วย ดังนั้นบริเวณทิศใต้ คือที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้น อาจเคยเป็น "สนาม" ของเมือง คล้ายกับสนามหลวงในกรุงเทพมหานครนั่นเอง
  • จารึกวัดสรศักดิ์ จัดแสดงที่ชั้นล่างของอาคารจัดแสดง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง สลักขึ้นจากหินชนวน รูปทรงใบเสมา ด้านหนึ่งเป็นตัวอักษรจำนวน 35 บรรทัดบอกเล่าประวัติของวัด อีกด้านหนึ่งเป็นภาพสลักลายเส้นพระพุทธรูปลีลา พระสาวก และเทวดา

  • ข้อแนะนำ
  • อากาศค่อนข้างร้อน ควรพกร่ม หรือ หมวก และน้ำดื่ม ระหว่างการเยี่ยมชม
  • แสงแดดจ้า ควรทาโลชั่นกันแดด เพื่อป้องกันผิวไหม้
  • หากเดินทางเยี่ยมชมในเวลาค่ำ ควรทายากันยุง เนื่องจากบริเวณวัดมีสระน้ำขนาดใหญ่ที่มียุงชุกชุม
  • วัดสรศักดิ์ ถือเป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองสุโขทัย นักท่องเที่ยวควรจะศึกษาข้อมูลมาเบื้องต้นเพื่อให้เข้าใจและสามารถซึมซับประวัติศาสตร์ได้อย่างถ่องแท้

  • ข้อควรระวัง
  • หากเดินทางโดยลำพัง ให้ระมัดระวังความปลอดภัย
  • อย่าปีนป่าย โบราณสถาน ในจุดที่เจ้าหน้าที่เตือน
  • โปรดปฏิบัติตามคำเตือนของเจ้าหน้าที่อย่างรัดกุม
  • วัดนี้อยู่นอกเขตชุมชน เปลี่ยว ไม่แนะนำให้เดินทางมาเองคนเดียว ในเวลากลางคืน



  • สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง

    ค้นหาแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงที่น่าสนใจได้อีกมากมาย

    ย้อนกลับ